Categories
เหตุการณ์ปัจจุบัน

นักเขียนไทย ชนะเลิศประกวดการ์ตูนนานาชาติ


นักเขียนชาวไทย เปรมา จาตุกัญญาประทีป ได้รับรางวัลการประกวดการ์ตูนระดับนานาชาติของรัฐบาลญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 ปี 2557 จากเรื่อง “บุ๊กบิ๊ก” (BokBig) โดยเมื่อปี 2556 นักเขียนชาวไทย โกสินทร์ จีนสีคง ก็ได้รับรางวัลเหรียญทองจากเรื่อง “แว่วกริ่งกังสดาล” จากการประกวดรางวัลการ์ตูนนานาชาติ (International Manga Award) ครั้งที่ 6

หลังจากที่ได้รับสมัครผลงานมังงะเพื่อเข้าร่วมการประกวดรางวัลมังงะ (การ์ตูน) นานาชาติ ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 15 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2556 มีผลงานจาก 53 ประเทศ ส่งเข้าร่วมการประกวด ทั้งสิ้น 256 ชิ้น

กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นประกาศรายชื่อผู้ชนะ “รางวัลมังงะนานาชาติ” ครั้งที่ 7 (International MANGA Award) ออกมาแล้ว ซึ่งผลปรากฏว่านักเขียนชาวไทย “เปรมา จาตุกัญญาประทีป” คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง และนับเป็นคนไทยคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลใหญ่ที่สุด จากการประกวดการ์ตูนระดับนานาชาติของรัฐบาลญี่ปุ่น

“บุ๊กบิ๊ก” ของ เปรมา จาตุกัญญาประทีป ที่เล่าเรื่องราว “สนุกสนานแบบป่วน ๆ ภายในครอบครัว ที่ได้ต้อนรับ “บุ๊กบิ๊ก” สุนัขมิเนียเจอร์ ฟิ้นเชอร์ เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ มิตรภาพ ความรัก ความผูกพัน ของคนและสัตว์” คือผลงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ในการประกวดระดับนานาชาติ ของกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น ที่เพิ่งประกาศผลออกมาเมื่อวันที่ 7 ก.พ.

โดยผลงานที่ได้รางวัลเหรียญเงินในการประกวดครั้งที่ 7 ได้แก่ Paris ของ จอร์จ อเล็กโซปูลอส จากสหรัฐอเมริกา, CARRIER ผลงานของนักเขียนจีนที่ใช้ชื่อว่า NAVAR และ The Folies Bergère ที่เป็นผลงานการสร้างสรรค์ร่วมกันของนักเขียนสเปน และเบลเยียม ฟรานซิส พอร์เซล กับ ซิดโร

ส่วนผลงานเรื่อง บุญโฮม คนป่วง ของ เรืองศักดิ์ ดวงพลา ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ร่วมกับผลงานของนักเขียนอีกหลายประเทศ

ซึ่งในปีนี้มีผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดถึง 256 เรื่องจาก 53 ประเทศ ถือว่าเพิ่มขึ้น 11 เรื่องจากปีก่อนที่มีงานส่งเข้าประกวด 245 เรื่องจาก 38 ประเทศ และนับว่าเป็นกิจกรรมที่มีผู้สนใจเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากครั้งแรกเมื่อปี 2007 มีนักเขียนเข้าร่วมส่งผลงานเพียง 22 ประเทศเท่านั้น

  Youtube: iqepin LINE it! เพิ่มเพื่อน  

การคว้ารางวัลของนักเขียนไทย ยังถือว่าเป็นคว้ารางวัลสูงสุดในการประกวดการ์ตูนระดับโลกเวทีนี้ถึง 2 ปีติดต่อกันแล้ว หลังจากเมื่อปีก่อน “แว่วกริ่งกังสดาล” ผลงานของ โกสินทร์ จีนสีคง ก็เคยได้รับรางวัลมาแล้ว และนับเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ผลงานของนักเขียนไทยได้รับรางวัลใหญ่ที่สุดของการประกวดรางวัลมังงะนานาชาติ โดย Super Dunker หรือ “สตรีทบอลสะท้านฟ้า” ของ จักรพันธ์ ห้วยเพชร เคยคว้ารางวัลนี้ไปในปี 2009 ซึ่งเป็นการมอบรางวัลครั้งที่ 3

นอกจากนั้นตลอด 7 ปีของการประกวด ยังมีผลงานของนักเขียนการ์ตูนชาวไทยคว้ารางวัลในระดับรอง ๆ ลงไปได้อีกหลายเรื่อง ได้แก่ “เรื่องมีอยู่ว่า” ของ วีระชัย ดวงพลา, “ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง” ของ ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์, “โรงเรียนเม็ดกวยจี๊ เทอม 3” ผลงานของ อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ และ “ณ กาลครั้งหนึ่งซึ่งมีรัก” ของ วราห์ชา พรรณสังข์

รางวัลมังงะนานาชาติ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการเขียน และอ่านการ์ตูนในระดับนานาชาติ โดยเป็นรางวัลที่ริเริ่มขึ้นมาจากแนวคิดของอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ทาโร อาโซ ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ผู้ได้ชื่อว่าเป็นแฟนการ์ตูนตัวยง

รางวัลการ์ตูนนานาชาติ (International Manga Award) เป็นรางวัลประจำปีซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อมอบเป็นเกียรติแก่ นักวาดการ์ตูน ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 เพื่อมอบรางวัลให้กับนักวาดการ์ตูนที่ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมการวาดการ์ตูนในต่างประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อวัฒนธรรมนิยมของประเทศญี่ปุ่น โดยประเทศไทยเคยได้รับรางวัลการ์ตูนนานาชาติ ดังนี้

พ.ศ. 2553

  • จักรพันธ์ ห้วยเพชร ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเรื่อง “สตรีทบอลสะท้านฟ้า” จากการประกวด “รางวัลการ์ตูนนานาชาติ” ครั้งที่ 3 (3rd International MANGA Award)
  • พงษ์พัฒน์ เพชรรัตน์ ได้รับรางวัลชมเชยจากเรื่อง “กองอาทมาตประกาศศึก” จากการประกวด “รางวัลการ์ตูนนานาชาติ” ครั้งที่ 3 (3rd International MANGA Award)

พ.ศ. 2554

  • วีระชัย ดวงพลา ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากเรื่อง “เดอะ สตอรี่ บีกิน วิธ”

พ.ศ. 2555

  • ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากผลงานหนังสือ “ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง”

พ.ศ. 2556

  • โกสินทร์ จีนสีคง ได้รับรางวัลเหรียญทองจากเรื่อง “แว่วกริ่งกังสดาล” จากการประกวดรางวัลการ์ตูนนานาชาติ (International Manga Award) ครั้งที่ 6

ที่มา: http://w3.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9570000015021 และ วิกิพีเดีย


Comments

comments