เกี่ยวกับคุณวุฒิ..”ทางสังคมศาสตร์” เปิดรับสมัครสอบ
ในการสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ เมื่ออ่านประกาศรับสมัครสอบฯ ในส่วนของระดับการศึกษาที่หน่วยงานนั้นๆ กำหนดให้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง บางครั้งอาจจะพบกับคำว่า “ทางสังคมศาสตร์” ในการรับสมัครสอบตำรวจ นายร้อยการเงิน นายร้อยธุรการ เมื่อครั้งที่ยังรับสมัครบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิปริญญาตรีเข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (นายร้อยตำรวจ) สายการเงิน สายธุรการ จะมีการถามถึงเรื่องนี้บ่อยมากๆ เพราะตอนนั้นสายธุรการ จะรับผู้จบปริญญาตรีทางสังคมศาสตร์ทุกสาขา
สังเกตให้ดีระหว่างคำว่า “ทางสังคมศาสตร์” กับ “สาขาวิชาสังคมศาสตร์” ไม่เหมือนกันนะครับ แบบหลังจะระบุเจาะจงเพียงผู้ที่จบสาขาวิชาสังคมศาสตร์ แต่ถึงแม้ว่าจะระบุว่า “ทางสังคมศาสตร์” ก็ต้องดูต่อว่าเป็น “ทางสังคมศาสตร์ทุกสาขา” หรือ “ทางสังคมศาสตร์” (ไม่ระบุสาขา) ถ้าไม่ระบุสาขาก็ความหมายเหมือนกับสังคมศาสตร์ทุกสาขา แต่หากเมื่อไรในประกาศระบุว่า “ทางสังคมศาสตร์สาขา…” ถ้าเป็นลักษณะนี้จะรับเฉพาะผู้ที่จบทางสังคมศาสตร์เฉพาะสาขาที่ระบุเท่านั้น สาขาอื่นแม้จะเป็นทางสังคมศาสตร์เช่นกันก็สมัครไม่ได้
ปริญญาทางสังคมศาสตร์ครอบคลุมหลายสาขา ซึ่งคุณวุฒิทางสังคมศาสตร์ที่สำนักงาน ก.พ. ได้พิจารณาไว้ได้แก่ ปริญญาทางต่างๆ ดังต่อไปนี้
สังคมสงเคราะห์ | เศรษฐศาสตร์ | บริหารรัฐกิจ | คหกรรมศาสตร์ | ประวัติศาสตร์ |
สังคมวิทยา | นิเทศศาสตร์ | บริหาร | การศึกษา | โบราณคดี |
มานุษยวิทยา | วารสารศาสตร์ | การจัดการ | กฎหมาย | ปรัชญา |
พัฒนาชุมชน | สื่อสารมวลชน | บริหารธุรกิจ | อาชญาวิทยา | ศาสนา |
พัฒนาชนบท | รัฐศาสตร์ | พาณิชยศาสตร์ | ทัณฑวิทยา | บรรณารักษศาสตร์ |
ประชากรศาสตร์ | รัฐประศาสนศาสตร์ | บัญชี | จิตวิทยา | อักษรศาสตร์ |
มนุษยศาสตร์ | ศิลปศาสตร์ | ภาษาศาสตร์ |
โดยรวมแล้วจะครอบคลุมเกือบทุกสาขาวิชา อาจจะสังเกตง่ายๆ ยกเว้น วิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ก็เหมือนจะเป็นทางสังคมศาสตร์เกือบทั้งหมด ส่วนนี้เป็นเรื่องที่บางท่านก็ทราบดีอยู่แล้ว แต่คิดว่าบางท่านก็ยังไม่ทราบ อย่างไรก็ต้องยึดเอาหากประกาศรับสมัครสอบของหน่วยงานต่างๆ กำหนดไว้นะครับ เพราะอาจจะมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขการรับสมัครสอบที่แตกต่างกันไปในแต่ละหน่วย งาน