Categories
รายงานพิเศษ สอบท้องถิ่น 2563-2564

สอบท้องถิ่น 2558 บัดนี้ –  ความคืบหน้าการสอบท้องถิ่น รอบ 2

“สอบท้องถิ่น 2558”

ลิงค์: https://iqepi.com/25954/ หรือ
เรื่อง: ความคืบหน้าการสอบท้องถิ่น รอบ 2
**ไม่ต้องผ่านภาค ก. ก.พ.**


จากกรณีที่มีการเปิดเผยวาระการประชุมโดยท่านปลัดศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล เกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการจัดสอบท้องถิ่น รอบ 2 ในปี 2558 หากติดตามข่าวก็คงไม่แปลกใจว่าบัญชียังไม่ถึง 2 ปี จัดสอบใหม่อีก หรือทำไมจึงเรียกว่ารอบ 2 ขออธิบายสักนิดเพื่อให้ท่านที่เพิ่งติดตามได้ทราบ

อดีต..การสอบท้องถิ่น 2557

เนื่องจากเดิมที่เปิดรับสมัครไปเมื่อปี 2557 ที่เป็นการสอบท้องถิ่นครั้งประวัติศาสตร์ที่นอกจากจะมีจำนวนผู้สมัครและเข้าสอบจำนวนมาก กว่าจะได้เข้าสอบก็ผิดแผกไปจากภาพการเข้าสอบแบบเดิมๆ เช่น ใส่เสื้อยืด กางเกงวอร์ม ไม่สวมรองเท้า นั่นก็คงไม่ทำให้แปลกใจมากไปกว่าจำนวนผู้สมัครสอบ 280,625 คน มีผู้ที่สอบผ่านเพียงเกือบๆ 8,750 คนเท่านั้น ยังไม่นับกระบวนการกว่าจะได้สอบที่ยาวข้ามปีเห็นมหากาพย์ สำรวจอัตราว่างกันหลายรอบ บาง อปท.ให้ กสถ. ดำเนินการจัดสอบแทนแล้วก็เกิดเปลี่ยนใจ จัดสอบเอง ซึ่งตามหลักเกณฑ์แล้วสามารถทำได้ จนบัญชีสำรวจอัตราว่างที่ส่งให้ กสถ. ไม่นิ่ง จึงต้องมีการบังคับว่าหากส่งแล้วห้ามแก้ไขเพื่อไปจัดสอบเอง

โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการออกข้อสอบและประมวลผลสอบท้องถิ่นในครั้งนั้น หลังจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่สามารถดำเนินการในกระบวนการดังกล่าวได้เนื่องจากเงื่อนไขเกี่ยวกับสถานที่สอบ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงต้องการให้จัดสอบที่ส่วนกลางเพื่อให้สามารถควบคุมป้องกันการทุจริตในการสอบได้อย่างเต็มที่ คงเป็นความกังวลความปลอดภัยของข้อสอบระหว่างการเดินทางไปยังศูนย์สอบจังหวัดต่างๆ แต่เมื่อมติที่ประชุมยืนยันว่าต้องการจัดสอบแบบแบ่งศูนย์แบ่งเขต จึงทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตดำเนินการออกข้อสอบและประมวลผลการสอบแทนมหาวิทยาลัยรามคำแหง

หลังจากการสอบเสร็จสิ้น และ กสถ. ประกาผลสอบก็ทำให้หลายคนไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าสอบหรือผู้ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างแปลกใจว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้สอบท้องถิ่นเมื่อปี 2557 ผู้เข้าสอบท้องถิ่นสอบตกกันระนาวขนาดนั้น จึงได้ลองสอบถามหลายๆ ท่านที่ได้เข้าสอบในครั้งนั้นผ่านทางเฟสบุ๊ค (ลิงค์) หลายท่านก็บอกว่าข้อสอบหลุด..โผ!! ก็คือบางตำแหน่งข้อสอบออกนอกเหนือจากหลักสูตรการสอบที่ระบุไว้ในประกาศรับสมัครสอบ แต่หากดูตามหัวข้อแล้วการจะออกข้อสอบที่หลุดไปจากประกาศน่าจะอยู่ในหัวข้อสุดท้ายที่ว่า “ความรู้ที่เกี่ยวกับงานตาม “ลักษณะงานที่ปฏิบัติ” ของตำแหน่งที่สมัครสอบ” ซึ่งในส่วนนี้จะกว้างมากต้องไปแกะเอาเองจากมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของแต่ละตำแหน่ง

เมื่อมีผู้สอบผ่านจำนวนน้อย หลายตำแหน่งมีผู้ที่ขึ้นบัญชีสอบผ่านไม่เพียงพอกับอัตราว่าง ลองสรุปบัญชีแต่ละภาค/เขต เห็นว่าไม่ว่าจะใช้บัญชีข้ามจังหวัด ข้ามเขต จนถึงข้ามภาค และใช้บัญชีที่มีลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวข้องเกื้อกูลกัน ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรจุอยู่ดี หลังจากนั้น กสถ. ก็มิได้รอช้าสั่งการให้ อปท.สำรวจอัตราว่างใหม่ทันที เพื่อเตรียมจัดสอบรอบ 2 แต่สืบเนื่องจากตามหลักเกณฑ์แล้ว อปท. น้อยใหญ่ทั่วประเทศสามารถจัดสอบเองได้ จึงได้มี อปท.หลายแห่งจัดสอบเอง โดยไม่ยอมใช้บัญชีกลางที่ กสถ. เป็นผู้จัดสอบ จนมีเรื่องมีราวการทุจริตในการสอบกันครึกโครมจนถึงกับยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้สอบผ่านที่ อปท.ที่มีปัญหาดังกล่าวดำเนินการจัดสอบเองหลังมีการสอบสวนโดย ป.ป.ช. แต่หลาย อปท.ที่มีการดำเนินการขอจัดสอบเองไปก่อนหน้าที่จะมีประกาศขอความร่วมมือให้ อปท. ต่างๆ ใช้บัญชีกลาง ไม่ว่าจะเป็นการขอใช้บัญชีข้ามจังหวัด ข้ามเขต จนถึงข้ามภาค และท้ายสุดคือการใช้บัญชีตำแหน่งที่มีลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวข้องเกื้อกูลกัน และให้ชะลอการดำเนินการจัดสอบเอง จนกว่าจะประกาศมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นใหม่ เนื่องจากมีการร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมเกี่ยวกับการดำเนินการจัดสอบโดย อปท. บางแห่งมีการดำเนินการจัดสอบที่ไม่โปร่งใส จนท้ายสุดหลายแห่งแม้จะประกาศรับสมัครสอบไปแล้วก็ต้องถูกระงับการดำเนินการจัดสอบก่อนที่จะมีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบ

ปัจจุบัน..ความคืบหน้าการสอบท้องถิ่น 2558

นั่นคืออดีต..มาถึงปัจจุบัน จากวาระการประชุมที่ข้อเสนอต่างๆ จะได้คำตอบในวันที่ 29 มกราคม 2558 เกี่ยวกับการดำเนินการสอบท้องถิ่น รอบ 2 ประจำปี 2558

ตำแหน่งและอัตราว่าง ที่ กสถ. จะดำเนินการจัดสอบแทน

หลังจากที่ทาง กสถ. ได้ให้ อปท. สำรวจตำแหน่งและอัตราว่างที่ประสงค์จะให้ กสถ.ดำเนินการจัดสอบแทน ตั้งแต่ปี 2557 สรุปอัตราว่างที่จะดำเนินการจัดสอบ จากเดิมทั่วประเทศ 116 ตำแหน่ง 4,069 อัตรา แต่ด้วยเหตุผลบางประการที่จะได้กล่าวต่อไป สรุปตามข้อเสนอเหลือเพียง 30 ตำแหน่ง 2,598 อัตรา ดังนี้

  • สายงานเริ่มต้นจากระดับ 2 จำนวน 7 ตำแหน่ง รวม 1,284 อัตรา
  • สายงานเริ่มต้นจากระดับ 3 จำนวน 23 ตำแหน่ง รวม 1,314 อัตรา

สาเหตุที่ทำให้จำนวนตำแหน่งและอัตราว่างลดลงไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้มีข้อเสนอให้ตำแหน่งที่มีอัตราว่างของทุกภาคและทุกเขตรวมกันแล้วไม่เกิน 10 อัตราให้ดำเนินการสรรหาด้วยวิธีการรับโอน การสอบคัดเลือกเปลี่ยนสายงาน หรือการขอใช้บัญชีกลางตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ “สายงานเริ่มต้นจากระดับ 1” หายไป!! สาเหตุก็มาจากมติที่ประชุมเมื่อเดือน พ.ย.ปี 2557 ได้เห็นชอบให้กำหนดบทเฉพาะกาลการใช้บังคับระบบจำแนกตำแหน่งที่ปรับปรุงใหม่ (ระบบแท่ง) เป็นระยะเวลา 1 ปี ได้มีการยุบตำแหน่งสายงานที่เริ่มต้นจากระดับ 1 รวมเข้ากับตำแหน่งสายงานเริ่มต้นจากระดับ 2 และตำแหน่งสายงานเริ่มต้นจากระดับ 2 บางตำแหน่งรวมเข้ากับตำแหน่งที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันในระดับเดียวกัน เช่น ตำแหน่งเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ 2 รวมกับ เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี 2

  Youtube: iqepin LINE it! เพิ่มเพื่อน  

มหาวิทยาลัยที่จะออกข้อสอบ

การประชุมในวันที่ 29 มกราคม 2558 ที่จะถึงนี้ จะได้มีการเสนอรายชื่อมหาวิทยาลัยของรัฐที่จะเป็นผู้รับผิดชอบการสอบแข่งขัน เพื่อดำเนินการทำข้อตกลงและจ้างดำเนินการสอบแข่งขันในครั้งนี้ แทนมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตผู้รับผิดชอบการสอบท้องถิ่นปี 2557 ที่สิ้นสุดการจ้างฯ ภายหลังการสอบเสร็จสิ้น

รับผลสอบภาค ก. ที่จัดสอบโดยสำนักงาน ก.พ. (ภาค ก. ก.พ.)

โดยปกติแล้วการจัดสอบท้องถิ่น ครู ทหาร ตำรวจ กทม. หรือองค์กรอิสระ จะไม่รับผลคะแนนภาค ก. ของ ก.พ. กล่าวคือจะผู้ที่สมัครสอบจะต้องสอบภาค ก. ใหม่ แต่ก็มีบางหน่วยงานที่รับผลคะแนนการสอบผ่านภาค ก. ก.พ. ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นศาลยุติธรรม ในทางกลับกันบางหน่วยงานที่รับสมัครสอบเป็นข้าราชการพลเรือนแต่ไม่รับผลคะแนนภาค ก. ก.พ. แต่จัดสอบภาค ก. เอง ก็มี เช่น กระทรวงการต่างประเทศ เอ่ยมาถึงตรงนี้น่าจะพอเห็นภาพแล้วว่าเหตุผลใดที่จะเป็นเงื่อนไขให้ส่วนราชการต่างๆ รับหรือไม่รับผลการสอบผ่านภาค ก. ก.พ. ไม่มีอะไรซับซ้อนมีเหตุผลเพียงสองประการที่ส่วนราชการต่างๆ จะพิจารณารับหรือไม่รับผลการสอบผ่านภาค ก. ก.พ. คือ

1. หลักสูตรการสอบ ภาค ก. ที่แตกต่างกัน

การสอบภาค ก. ก.พ. ในปัจจุบันจะมีการสอบวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มเข้ามาจากเดิมที่มีเพียงวิชาความสามารถทั่วไปและวิชาภาษาไทยเท่านั้น ตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้เริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (2557) และหากมีผลคะแนนการทดสอบภาษาอังกฤษจากสถาบันที่ ก.พ. กำหนด เช่น TOEIC, TOEFL, TU-GET, CU-TEP ก็สามารถยื่นผลคะแนนแทนการสอบวิชาภาษาอังกฤษ กํบ ก.พ. ได้

ซึ่งโดยปกติส่วนราชการที่รับผลการสอบภาค ก. ก.พ. มักจะนำส่วนของ กฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการที่รับสมัครสอบไปไว้ในส่วนของภาค ข. แตกต่างกับการสอบท้องถิ่น หรือส่วนราชการอื่นๆ ที่ไม่รับผลผ่านภาค ก. ก.พ.

การสอบท้องถิ่นครั้งที่ผ่านมาตามมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2555 ไม่มีวิชาภาษาอังกฤษแล้วยังมีวิชาความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการใน อปท. ถึง 50 คะแนน นอกเหนือจากวิชาความสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล และวิชาภาษาไทย วิชาละ 25 คะแนน เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า “วิชาความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการใน อปท.” มีสัดส่วนคะแนนถึง 50% ของคะแนนทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วย พ.ร.บ.เทศบาล, พรบ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล,พรบ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด,พรบ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา,พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น, ฯลฯ  และทำให้การสอบท้องถิ่นเฉพาะวิชาความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการใน อปท. ที่อยู่ในส่วนของภาค ก. ท้องถิ่น จึงไปซ้ำกับหลักสูตรการสอบภาค ข. บางตำแหน่ง เช่นตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ ที่ต้องสอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 ซึ่งรวมอยู่ในส่วนของวิชาความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการใน อปท. ของภาค ก. แล้วยังต้องสอบวิชาเดิมอีกในหัวข้อเดียวกับสำหรับการสอบภาค ข.

2. เกณฑ์การตัดสิน เมื่อภาค ก. ก.พ.ไม่มีคะแนน มีเพียง “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน”

กรณีส่วนราชการใดรับผลการสอบผ่านภาค ก. ก.พ. เพื่อจัดลำดับขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้บรรจุฯ จะมีลักษณะการกำหนดเกณฑ์การตัดสินโดยจะไม่นำคะแนนในส่วนของภาค ก. มาร่วมในการคำนวณเพื่อจัดลำดับ จะเอาเพียงแค่ผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น เช่น จะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 60% สำหรับวิชาความสามารถทั่วไปและวิชาภาษาไทย และจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 50% เฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ในระดับปริญญาตรี หากเป็นระดับปริญญาโทก็จะเพิ่มเกณฑ์การตัดผ่านขึ้นอีกเล็กน้อย  โดยกระบวนการนี้จะเป็นส่วนที่ทางสำนักงาน ก.พ. เป็นผู้ดำเนินการประมวลผลคะแนน แล้วออกเป็นใบรับรองให้กับผู้ที่สอบผ่านได้คะแนนทั้ง 3 วิชาผ่านเกณฑ์ตามที่ ก.พ. กำหนด ส่วนราชการอื่นใดที่รับผลการสอบผ่านภาค ก. ก.พ. ก็กลั่นกรองเอาเฉพาะผู้ที่สอบผ่านภาค ก. ก.พ. แล้วเท่านั้นมาสอบภาค ข. และภาค ค. และประมวลผลคะแนน โดยภาค ข. จะต้องผ่านเกณฑ์ตัดผ่าน 60% และภาค ค. ก็ต้องผ่านเกณฑ์ตัดผ่าน 60% ด้วยเช่นกัน แล้วจึงนำผลคะแนนภาค ข. และภาค ค.มารวมกันแล้วจัดลำดับขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบผ่านเพื่อเรียกบรรจุตามลำดับต่อไป แตกต่างกับส่วนราชการที่ไม่รับผลการสอบผ่านภาค ก. ก.พ. เนื่องจากเกณฑ์การตัดสินแตกต่างกัน

กรณีส่วนราชการใดที่ไม่รับผลการสอบผ่านภาค ก. ก.พ. จะมีเกณฑ์การตัดสินเพื่อจัดลำดับผู้สอบผ่านโดยเก็บคะแนนทุกภาค ทั้งภาค ก. ภาค ข. และภาค ค. โดยทุกภาค ในแต่ละภาคจะต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า 60% แล้วจึงจะนำคะแนนทั้งหมดมารวมกันเพื่อจัดลำดับขึ้นบัญชีผู้สอบได้รอเรียกบรรจุตามลำดับ

สำหรับ..การสอบท้องถิ่น 2558 ในที่ประชุมเมื่อวันที่ี 25 ธ.ค. 2557 ได้มีความเห็น 2 แนวทางเกี่ยวกับเรื่อง การจัดสอบภาค ก. ดังนี้

แนวทางที่ 1 รับผลสอบภาค ก. ก.พ. โดยหากผู้สมัครสอบมีใบรับรองผลการสอบภาค ก. ก.พ. สามารถยื่นเพื่อไม่ต้องสอบภาค ก. อีก แต่หากยังไม่มีใบรับรองผลการสอบผ่านภาค ก. ก.พ. ทาง กสถ. ก็จะจัดสอบภาค ก. ให้ เพื่อให้มีจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบภาค ข. เพิ่มขึ้น แบบชัวร์ๆ

แนวทางที่ 2 จัดสอบเหมือนเดิม คือ ผู้สมัครสอบท้องถิ่นทุกคนต้องสอบภาค ก. ใหม่หมด โดย กสถ. เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบทั้งหมดทั้ง ภาค ก. ภาค ข. และ ภาค ค. ไม่รับผลการสอบผ่านภาค ก. ก.พ.

ซึ่งหากมีการดำเนินการในตามแนวทางที่ 1 คงต้องมีการเปลี่ยนหลักสูตรการสอบ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมสำหรับผู้ที่มีใบรับรองผลการสอบภาค ก. ก.พ. และผู้ที่ไม่มีใบรับรองผลการสอบ ภาค ก. ก.พ. ที่จะต้องสอบภาค ก. ที่ กสถ. จัดสอบแทน แล้วยังจะต้องเปลี่ยนเกณฑ์การตัดสินด้วยเนื่องจากแบบเดิมๆ ตามแนวทางที่ 2 มีการนำเอาคะแนนภาค ก. มาร่วมในการคำนวณเพื่อจัดลำดับขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบผ่านด้วย แต่ ก.พ. ไม่ได้สนใจในเรื่องการเก็บผลคะแนนที่เป็นตัวเลข เก็บเพียงผลผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ตัดผ่าน 60% ในส่วนของวิชาความสามารถทั่วไป และวิชาภาษาไทย และ 50% สำหรับเกณฑ์ตัดผ่านเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ

ดาวน์โหลดประกาศรับสมัครสอบ คลิกที่นี่

Comments

comments