“สธ.ดันโคราชเป็นศูนย์กลางกัญชาเพื่อการแพทย์“
ลิงค์: https://ehenx.com/10907/ หรือ
เรื่อง:
สธ.ดันโคราชเป็นศูนย์กลางกัญชาเพื่อการแพทย์
สธ.จัดประชุมชี้แจงให้ความรู้และทำความเข้าใจแนวทางการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ สาระสำคัญของกฎหมายเดิมที่ให้ปลูกกัญชาได้ คือวิสาหกิจชุมชน รพช. หรือ รพ.สต. หากวิสาหกิจชุมชนสนใจปลูกกัญชาให้จับคู่หรือเจรจากับ รพสต. เพื่อร่วมมือกันปลูกจะอยู่ในตำบลเดียวกันหรือนอกเขต
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 สิงหาคม ที่โรงแรมเฮอร์มิเทจ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.นครราชสีมา ดร.นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อม นพ.กวี ไชยศิริ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในฐานะที่ปรึกษาคณะติดตามประเมินผลใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมชี้แจงให้ความรู้และทำความเข้าใจแนวทางการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์และขั้นตอนการขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและประชาชนทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัดต้องการปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และหวังผลทางเศรษฐกิจกว่า 400 คน ทยอยมาลงทะเบียนจนเต็มความจุห้องประชุม
น.พ สำเริง แหยงกระโทก เปิดเผยว่า สาระสำคัญของกฎหมายเดิมที่ให้ปลูกกัญชาได้ คือวิสาหกิจชุมชนร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใช้วิธีการปลูกแบบมาตรฐานขั้นต่ำใช้งบประมาณ 100,000 บาท สามารถปลูกได้ หากวิสาหกิจชุมชนสนใจปลูกกัญชาให้จับคู่หรือเจรจากับ รพสต. เพื่อร่วมมือกันปลูกจะอยู่ในตำบลเดียวกันหรือนอกเขตตำบลก็ได้ โดยดำเนินการในกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วปลดล็อคมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้คำมั่นสัญญากับประชาชน ขณะนี้เริ่มมีความหวังเป็นจริงขึ้นมาในกรอบระยะเวลาประมาณ 1 ปี สำหรับการอนุญาตให้ปลูกอย่างเสรีต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
สถานการณ์ขณะนี้มีการลักลอบใช้กัญชาใต้ดินรักษาโรคกว่า 1 ล้านราย ซึ่งมีราคาแพงและสารปนเปื้อนสูงรวมทั้งมีน้ำมันมะพร้าวเป็นส่วนผสมมากเกินไป กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขับเคลื่อนโครงการปลูกกัญชาใน รพ.สต.จำนวน 150 แห่ง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินการแห่งแรกที่ รพ.สต.คลองม่วง อ.ปากช่อง และ รพ.สต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย เป็นแห่งที่สอง ซึ่งบริษัท ธนัมเฮิร์บพาณิชย์ จำกัด ได้มอบโรงเรือนปลูกกัญชามูลค่า 5 แสนบาท เพื่อพัฒนาแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านปรุงยาและจ่ายยาในตำรับไทยใน รพ.สต.ในอนาคต รวมทั้งพัฒนาและส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness Tourism) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการรักษาโรคด้วยกัญชามาใช้บริการแบบครบวงจร นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวในท้องถิ่นมีความคึกคัก หลังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 คลี่คลายลง
ด้านนพ.กวี ไชยศิริ ที่ปรึกษาคณะติดตามประเมินผลใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายองค์กรปลูกต้นกัญชาเป็นจำนวนหลายหมื่นต้น ผู้ที่มีสิทธิ์ปลูกคือโรงพยาบาล สถานศึกษา มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมมือกับภาครัฐ มีศักยภาพและความพร้อมในการปลูก การผลิตน้ำมันกัญชาได้เป็นล้านขวด เมื่อติดตามข้อมูลของผู้ใช้ทั้งใต้ดินและถูกต้องตามกฎหมายกว่า 10 ล้านคน ต้องการผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพื่อการแพทย์
ขอทำความเข้าใจกับพี่น้อง ประชาชน เกี่ยวกับความคืบหน้าของกัญชาในประเทศ เมื่อวันที่ 26 สค. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับกฎหมายกัญชา โดยมีหน่วยงานภาครัฐกว่า 10 หน่วยงานเข้าร่วมนำเสนอความคิดเห็น ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปหรือแนวทางที่เป็นในทิศทางเดียวกัน ในการดำเนินการใช้กัญชาอย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน แผนโบราณ แพทย์แผนไทย อาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา ขั้นตอนต่อไปคือการแก้ไขข้อกฎหมายในการใช้กัญชา ให้สามารถเปิดโอกาสมากขึ้นกว่าเดิม
“สำหรับโอกาสของประชาชนในการปลูกกัญชา เบื้องต้นต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ รพ.สต. และโรงพยาบาล ผลผลิตต่างๆของกัญชาจำเป็นต้องมอบให้รัฐบาลเพื่อนำไปบริหารจัดการนำไปผลิตยารักษาที่มีคุณภาพปลอดภัยแจกจ่ายประชาชนและผู้ป่วย ซึ่งยังไม่เปิดโอกาสให้ผลิตใช้เอง ในประเด็นนี้เราพยายามแก้ไขผลักดันเพื่อเปิดโอกาสให้กว้างขึ้นสำหรับประชาชนในการนำกัญชามาใช้ในครัวเรือน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนสร้างรายได้ในท้องถิ่น ขณะนี้ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกพัฒนากัญชาอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย มีความก้าวหน้าที่สุดในการศึกษาวิจัยเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์” นพ.กวี กล่าว