Categories
ข้อมูลเตรียมสอบงานราชการ

ศาลปกครองแนวธงคำตอบเจ้าหน้าที่ศาลปกครอง

ศาลปกครอง

ศาลปกครอง

ลิงค์: https://iqepi.com/38319/ หรือ
เรื่อง:


  Youtube: iqepin LINE it! เพิ่มเพื่อน  

ศาลปกครอง เปิดรับสมัครสอบ

แนวธงคำตอบภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง
ในการสอบแข่งขันบุคคลทั่วไป เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการสังกัดสำนักงานศาลปกครอง
ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ศาลปกครองปฏิบัติการ
ข้อ ๑ ให้ท่านอธิบายเหตุผลในการตราพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดระหว่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีลักษณะที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร
แนวธงคำตอบ
๑. อธิบายเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ ตามหมายเหตุ ท้ายพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
๒. อธิบายลักษณะของการกระทำที่เป็นละเมิดไว้โดยเฉพาะว่ามีอย่างไร (มาตรา ๔๒๐ มาตรา๔๒๕ มาตรา ๔๒๖ และมาตรา ๔๒๗ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) และ
ลักษณะความรับผิดของการกระทำทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ว่ามีความแตกต่างจากความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างไร (มาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๐)
ข้อ ๒ ในฐานะที่ท่านประสงค์จะเข้ามาเป็นบุคลากรของสำนักงานศาลปกครอง ท่านมีความเข้าใจ ในบทบาทหน้าที่หรือภารกิจของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง อย่างไร ให้อธิบายโดยสังเขป
แนวธงคำตอบ
อธิบายภารกิจของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และอธิบายภารกิจของสำนักงานศาลปกครอง ตามมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

ข้อ ๓ การที่สำนักงานศาลปกครองประกาศรับสมัครสอบแข่งขันบุคคลทั่วไปเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการสังกัดสำนักงานศาลปกครอง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ศาลปกครองปฏิบัติการ และต่อมา ได้ประกาศผลการสอบแข่งขันฯ ประกาศ ๒ ฉบับดังกล่าว เป็นการพิจารณาทางปกครองและหรือคำสั่ง ทางปกครอง หรือไม่ อย่างไร ให้อธิบาย
แนวธงคำตอบ
๑. ข้อกฎหมาย
ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา ๕ ได้นิยามความหมายของการพิจารณาทางปกครองและคำสั่งทางปกครองไว้ดังนี้
“การพิจารณาทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง
“คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า
(๑) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ
(๒) การอื่นที่กำหนดในกระทรวง
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้กำหนดให้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้ เป็นคำสั่งทางปกครอง
๑) การสั่งรับหรือไม่รับคำเสนอขาย รับจ้าง แลกเปลี่ยน ให้เช่า ซื้อ เช่า หรือให้สิทธิประโยชน์
๒) การอนุมัติสั่งซื้อ จ้าง แลกเปลี่ยน เช่า ขาย ให้เช่า หรือให้สิทธิประโยชน์
๓) การสั่งยกเลิกกระบวนการพิจารณาคำเสนอหรือการดำเนินการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
๔) การสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน
๒. การอธิบายความหมายของคำสั่งทางปกครอง คำสั่งทางปกครองทั่วไป คำสั่งทางปกครองเฉพาะ
๓. ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันบุคคลทั่วไป เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการสังกัดสำนักงานศาลปกครอง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ศาลปกครองปฏิบัติการนั้น เป็นการประกาศเพื่อให้บุคคลที่มีคุณสมบัติที่สนใจประสงค์จะสมัครสอบในตำแหน่งดังกล่าวเท่านั้น ประกาศดังกล่าวจึงเป็นเพียงการเตรียมการและ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นการพิจารณาทางปกครองตามนัย มาตรา ๕ ดังกล่าว
๔. ประกาศผลการสอบแข่งขัน เป็นประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสอบแข่งขันบุคคลทั่วไป เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ สังกัดสำนักงานศาลปกครอง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ศาลปกครองปฏิบัติการ ถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ผ่านการสอบแข่งขันให้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการสังกัดสำนักงานศาลปกครอง ประกาศ ฉบับดังกล่าวจึงถือเป็นคำสั่งทางปกครอง
* การให้คะแนนจะพิจารณาว่าเป็นไปตามธงคำตอบหรือไม่ อย่างไร และการแสดงเหตุผลประกอบในแต่ละเรื่อง *

ข้อ ๔ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ หมวด ๖ วินัยและการรักษาวินัย ได้กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนต้องรักษาวินัยโดยเคร่งครัด ซึ่งสำนักงานศาลปกครองได้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้โดยอนุโลม จึงอยากทราบว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใดที่ถูกกำหนดให้เป็นความผิดวินัย ตามกฎหมายดังกล่าว
แนวธงคำตอบ
อธิบายสาระสำคัญของ หมวด ๖ วินัยและการรักษาวินัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยจำแนกให้สามารถเข้าใจได้ว่า การกระทำใดบ้างเป็นความผิดวินัย (มาตรา ๘๓ และมาตรา ๘๕) การไม่กระทำการใดบ้างเป็นความผิดวินัย (มาตรา ๘๑ และมาตรา ๘๒) และการกระทำใดเป็นความผิดวินัยร้ายแรง (มาตรา ๘๔ และ มาตรา ๘๕)
ข้อ ๕ อธิบดีกรมที่ดินได้มีหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการกองนิติการเป็นผู้ยื่นคำฟ้อง ต่อศาลปกครองและดำเนินคดีแทนจนถึงที่สุด การดำเนินการของผู้อำนวยการกองนิติการเป็นการปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมที่ดินหรือไม่ อย่างไร
แนวธงคำตอบ
มาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ บัญญัติว่า อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะถือปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ คำสั่งใด หรือของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้ เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามในเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกัน หรือส่วนราชการอื่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา วรรคสอง บัญญัติว่า “พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งอาจกำหนดให้มีการมอบอำนาจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตลอดจนการมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมสัญญา ฟ้องคดี และดำเนินคดี หรือกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขในการมอบอำนาจ หรือที่ผู้รับมอบอำนาจต้องปฏิบัติงานได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้น อาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกันปฏิบัติราชการแทนได้ ถ้ากฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ คำสั่งใด หรือมติคณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดห้ามไว้ ซึ่งเป็นการมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนตามอำนาจหน้าที่ปกติ แต่อธิบดีกรมที่ดินมีหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการกองนิติการจัดทำคำให้การยื่นต่อศาลและดำเนินคดีแทนนั้น เป็นการมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการกองนิติการดำเนินคดีแทน เป็นการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทน ตามมาตรา ๔๕ วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่บัญญัติว่า “ในการดำเนินกระบวนพิจารณา คู่กรณีจะดำเนินการทั้งปวงด้วยตนเอง หรือจะมอบอำนาจให้ทนายความ หรือบุคคลอื่นซึ่งมีคุณสมบัติตามระเบียบ ของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดกำหนดเพื่อฟ้องคดี หรือดำเนินการแทนได้” ประกอบระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยองค์คณะ การจ่ายสำนวน การโอนคดี การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการในคดีปกครอง การคัดค้านตุลาการศาลปกครอง การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานคดีปกครอง และ การมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทน พ.ศ. ๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ข้อ ๒๐ วรรคสอง ที่กำหนดว่า คู่กรณีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจมอบอำนาจให้ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างแล้วแต่กรณีของหน่วยงานทางปกครองนั้น หรือของหน่วยงานทางปกครองที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดอยู่หรือพนักงานอัยการฟ้องคดี หรือดำเนินคดีปกครองแทนได้ ดังนั้น การที่อธิบดีกรมที่ดินมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการกองนิติการดำเนินคดีแทน จึงไม่ใช่การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนในความหมายตามมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔
—————————————————————

 

ดาวน์โหลดไฟล์ ศาลปกครอง คลิกที่ลิงค์ด้านล่าง
ประกาศ 1 |

 

Comments

comments