“ความคืบหน้า – ตำรวจไม่มียศ&ตำรวจ+ท้องถิ่น”
ลิงค์: https://iqepi.com/?p=14672 หรือ
**ไม่ต้องผ่านภาค ก. ก.พ.**
เมื่อเรื่องสอบตำรวจไม่มียศกลายเป็นประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ที่แต่เดิมเริ่มเรื่องจากกลุ่มผู้สนใจสอบแข่งขันเข้ารับราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ต่อเมื่อ คสช.มีประกาศออกมาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ก็เลยเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับคนที่ไม่ได้สนใจที่จะสอบแข่งขันเข้ารับราชการ เพราะเป็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจมากกับ “ตำรวจไม่มียศ” ทั้งที่เพียงเริ่มต้นกับโครงการ CRIME เท่านั้น ไม่ได้ไปเกี่ยวกับสายงานปัจจุบันแบบเดิมๆ การสอบสายอำนวยการและสนับสนุน ชั้นสัญญาบัตร ที่มีชั้นยศ สำหรับบุคคลภายนอกหรือบุคคลภายในก็ยังคงมีอยู่ แต่ก็ยอมรับว่าน่าจะเกิดปัญหากรณี “ข้ามห้วย” การข้ามไปมียศก็ไม่มีปัญหา แต่การข้ามมาฝั่งไม่มียศ ตรงนี้คงต้องรอดู พรฎ.ข้าราชการตำรวจไม่มียศ แต่ตามสรุปข้อสั่งการในการประชุม ศปก.ตร.ครั้งที่ 104/57 (251)(228) เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ก.ค. 2559 โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร. เป็นประธาน ก็ได้ระบุรายละเอียดไว้ว่าเป็นข้าราชการตำรวจ “ชั้นประทวน” ปฏิบัติงานในสายอำนวยการสนับสนุนและเทคโนโลยีของสถานีตำรวจ
อาจจะเพราะในวันเดียวกันได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 111/2557 ที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เอา ประกาศ คสช. ทั้งฉบับที่ 111/2557 กับ 114/2557 มาปะติปะต่อกัน ทีนี้ถ้าฟังแต่ข่าวไม่เห็นประกาศอาจทำให้สับสนจึงเอาประกาศที่เกี่ยวข้องดังกล่าวมาดูรายละเอียดอีกครั้ง
หลังจากที่ได้ก่อนหน้านี้ได้แจ้งข่าวเรื่อง การสอบตำรวจไม่มียศ ถ้าติดตามประกาศของ คสช. ในระยะนี้ มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 3 ฉบับที่น่าสนใจ ตามวิทยุในราชการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 ได้มีการกล่าวถึง ประกาศ คสช. ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน ลงวันที่และมีผลบังคับใช้ในวันเดียวกัน คือ 21 กรกฎาคม 2557 ทั้ง 3 ฉบับ
ซึ่งทั้งหมดก็เคยนำมาแจ้งให้ทราบแล้ว จากเว็บไซต์ข่าว ในภาพสรุปภาพรวมคร่าวๆ สั้นๆ ที่มาจากการสัมภาษณ์ รรท.ผบ.ตร. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ (คลิกที่นี่) แต่ก็อยากให้ดูในรายละเอียดที่เป็นประกาศของ คสช. ทั้ง 3 ฉบับ ตามวิทยุในราชการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2557 สรุปสั้นๆ ดังนี้
1. ประกาศ คสช. ฉบับที่ 111/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค.2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ มาตรา 7 เกี่ยวกับการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยของประชาชน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย งบประมาณและอาสาสมัคร ฯลฯ
2. ประกาศ คสช.ฉบับที่ 114/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ ตามมาตรา 8 เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ โดยให้มีระบบการบริหารงานบุคคล เงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง เช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ฯลฯ
3. ประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 21 เรื่องอำนาจการสืบสวนสอบสวน มาตรา 142 และมาตรา 145 เรื่องการสอบสวนสามัญ
ในที่นี่จะขอกล่าวถึงเพียง 2 ฉบับ คือ ประกาศ คสช. 111/2557 และ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 114/2557 เพื่อความต่อเนื่องกับความคืบหน้าของการรับสมัครสอบตำรวจไม่มียศ ที่ได้แจ้งให้ทราบไปก่อนหน้านี้
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ฉบับที่ 114/2557
เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจโดยให้มีระบบการบริหารงานบุคคล เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมาย่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
ให้ยกเลิกความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 8 ข้าราชการตำรวจอาจให้แบ่งเป็นข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศด้วยก็ได้ โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ข้าราชการตำรวจตำแหน่งใดหรือปฏิบัติหน้าที่ใด จะเป็นข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่ง ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้กำหนดประเภทตำแหน่ง วิธีการกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การบรรจุ การแต่งตั้ง การบังคับบัญชา วินัยและการรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การโยกย้ายระหว่างข้าราชการตำรวจประเภทมียศและข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศ รวมทั้งการปรับยศและปรับเงินเดือนเมื่อมีการโยกย้ายดังกล่าวตลอดจนการอื่นตามที่จำเป็น
การกำหนดอัตราเงินเดือน อัตราเงินประจำตำแหน่ง การรับและการจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศสำหรับตำแหน่งแต่ละประเภท ให้นำกฎหมายว่าด้ยระเบียบข้าราชการพลเรือน กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา มาใช้บังคับ โดยอนุโลมตามลักษณะของประเภทตำแหน่ง แล้วแต่กรณี
พระราชกฤษฎีกาตามวรรคสอง ไม่มีผลกระทบฐานะของข้าราชการตำรวจที่มียศอยู่แล้วในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ”
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
สรุปก็คือเปลี่ยนแปลงเฉพาะ
“การรับและการจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศสำหรับตำแหน่งแต่ละประเภท ให้นำกฎหมายว่าด้ยระเบียบข้าราชการพลเรือน กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา มาใช้บังคับ โดยอนุโลมตามลักษณะของประเภทตำแหน่ง แล้วแต่กรณี”
จากข่าวก็คาดว่าประมาณ 1-2 เดือนก็สามารถออก พรฎ.ข้าราชการตำรวจไม่มียศได้
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ฉบับที่ 111/2557
เรื่อง การแก้ไขเพิ่มกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการปฏิบัติภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพ เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 7 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดระบบการบริหาร การปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยของประชาชนให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน โดยต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชนมีส่วนร่วม ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย งบประมาณ และอาสาสมัคร ตลอดจนการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานตำรวจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ต.ช. กำหนด
การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรภาคเอกชนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรภาคเอกชนนั้น”
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
จริงๆ แล้วยังมีประกาศ คสช. ที่มีการยกเลิก/แก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 อยู่หลายฉบับ ซึ่งหากต้องใช้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการสอบ ก็คงต้องติดตามเพิ่มเติม เท่าที่พบตอนนี้มี 5 ฉบับ
ความเห็นส่วนตัว..ความเป็นไปได้ของ “ตำรวจท้องถิ่น”
พยายามจะเรียบเรียงบทความนี้ด้วยความระมัดระวังหาหลักฐานและข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้มากที่สุด เนื่องจากยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการมีเพียงสัญญาณอ่อนๆ ผ่านประกาศ คสช. ทั้ง 2+3 ฉบับเพราะเรื่องการปฏิรูปตำรวจที่เป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ค่อนข้างเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ และบางทีนี่คือการเริ่มเคลื่อนไหวสำหรับการปฏิรูปตำรวจ
จากประกาศ คสช.ทั้ง 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 111/2557 และ ฉบับที่ 114/2557 ทำให้เริ่มคิดว่าหรือนี่คือส่วนหนึ่งของการ “ปฏิรูปตำรวจ” ไม่นับรวมถึงฉบับที่ 87,88,89 อีก 3 ฉบับที่ก็มีการยกเลิก/แก้ไข/เปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
สำหรับประกาศ คสช. ฉบับที่ 111/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ มาตรา 7 เกี่ยวกับการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยของประชาชน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย งบประมาณและอาสาสมัคร ฯลฯ
ในรายละเอียดมันช่างสอดคล้องกับแนวคิดการปฏิรูปตำรวจที่ว่าให้แยกงานบางส่วนออกไปจากทบวงตำรวจ เช่น ตำรวจท่องเที่ยว, ตำรวจรถไฟ, ตำรวจน้ำ, ตำรวจตระเวนชายแดนให้ไปขึ้นกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ให้แต่ละภาคแต่ละจังหวัดรวมไปถึงนครใหญ่มีกิจการตำรวจของตนเองเหมือนกับในต่างประเทศ ซึ่งหากทำได้ก็จะไปสัมพันธ์กับแนวคิดกระจายอำนาจ สตช. ก็ยิ่งทำให้จินตนาการเตลิดไปว่า ไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะมี..”ตำรวจท้องถิ่น” หรือเปล่า?? เพราะจากรายละเอียดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 111/2557 ในลักษณะงานที่ปฏิบัติจะไปสอดคล้องกับ.. “สายงานป้องกันและปราบปราม” มากๆ คือ “ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยของประชาชนให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน”
โดยอาจจะรับโอนมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามสัดส่วนที่ตกลงกันระหว่าง สตช. กับ อปท. หรือจะเปิดรับสมัครใหม่ ดังย่อหน้าสุดท้ายของประกาศฉบับนี้ที่ว่า “การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรภาคเอกชนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรภาคเอกชนนั้น” เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ หรือเฉพาะที่ได้ยกตัวอย่าง เพราะนั่นยังไม่นับรวมถึง ตำรวจดับเพลิง ที่ไปสังกัด กทม. ก็เป็นอีกตัวอย่างที่สนับสนุนความน่าจะเป็นของการปรับโครงสร้างขององค์กรตำรวจ ในรูปแบบใหม่เหมือนกิจการตำรวจในสากลนั่นคือ “เป็นตำรวจของท้องถิ่น”
ถ้าเอามาผูกกับ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 114/2557 เกี่ยวกับเรื่องชั้นยศแล้ว เว็บข่าวออนไลน์บางแห่งยังกล่าวว่าประกาศสองตัวนี้จะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกันและกัน จึงลองกลับมาดูรายละเอียดอีกครั้งและเห็นว่าว่าในลักษณะของ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 111/2557 ได้ให้ความสำคัญไปที่งานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันและปราบราม จำเป็นต้องเข้าศูนย์ฝึกฯ โดยในขณะที่ฝึกนั้นจะเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ ยังอยู่ในชั้นพลตำรวจ ซึ่งไม่มีอำนาจในการจับกุมผู้ต้องหาได้จนกว่าจะฝึกจบครบหลักสูตรนักเรียนนายสิบตำรวจแล้วจึงจะได้เลื่อนเป็นชั้นประทวน และติดยศเป็น ส.ต.ต. หรือสิบตำรวจตรี หรือที่นิยมเรียกว่านายสิบตำรวจ จึงจะสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ หากจะให้นายตำรวจเหล่านี้ไปสังกัดอยู่กับท้องถิ่นโดยไม่ติดยศให้ ก็อาจจะต้องแก้ไขหลักสูตรการฝึกการอบรม หรืออาจต้องยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น และลดรูปแบบการฝึกแบบมีชั้นยศลง
อย่างไรก็ยังเป็นเพียงการคาดการณ์จากสถานการณ์แวดล้อม และข้อมูลต่างๆ ที่พอจะหาได้ ก็จะขอลองเดาเล่นๆ ดูว่าจะถูกหรือไม่กับ.. “ตำรวจท้องถิ่น” ^^
สมัครงาน ความคืบหน้า งานราชการ ความคืบหน้า รับสมัคร สอบ ความคืบหน้า 2557 สอบ ความคืบหน้า 57 ความคืบหน้า เปิดสอบ