● เห็นชอบประมาณการรายจ่ายเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 จำนวน 548,723,550 บาท โดยจะเป็นวงเงินที่ให้ครูขอกู้ได้ จำนวน 2,500 รายๆ ละ 200,000 บาทในอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน คือ MLR-1 ประมาณร้อยละ 6 และมีกำหนดชำระคืนภายใน 8 ปี จำนวน 96 งวด ซึ่งคุณสมบัติของผู้มีสิทธิกู้ยืมเงินมีดังนี้
– เป็นข้าราชการครูตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 สังกัด ศธ.
– รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
– มีเงินเดือนคงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเงินเดือน
– เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ และเป็นแบบอย่างที่ดี
– ไม่เป็นผู้ที่เคยได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูมาก่อน
– ไม่เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย
– ไม่เป็นผู้ที่ถูกฟ้องร้องคดีล้มละลาย หรือมีคำสั่งศาลให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดคดีล้มละลาย หรือมีคำสั่งศาลให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
● เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู (ฉบับที่ 5) พ.ศ. ….
จากการที่คณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู (ฉบับที่ 5) พ.ศ. …. เพื่อให้มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ด้านสินเชื่อบุคคลในการพิจารณาอนุมัติคำขอวงเงินให้กู้ยืม และตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ ป้องกันปัญหาหนี้ค้างชำระและให้การบริหารงานเงินทุนหมุนเวียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงาน ก.ค.ศ.พิจารณาเห็นว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาประสบปัญหาการวิเคราะห์กระแสเงินสด ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ยื่นคำขอกู้ และการประสานข้อมูลติดตามหนี้ จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู (ฉบับที่ 5) พ.ศ. …. ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
– เพิ่มผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1 ราย เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนส่วนราชการ รวมมีคณะอนุกรรมการ 9 ราย
– เพิ่มผู้แทน ธ.ก.ส.ประจำเขตพื้นที่ จำนวน 1 ราย เป็นอนุกรรมการ และเพิ่มเจ้าหน้าที่ที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามอบหมาย จำนวน 1 ราย เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเขตพื้นที่การศึกษา รวมมีคณะอนุกรรมการ 9 ราย ทั้งนี้ได้เปลี่ยนชื่อฝ่ายอนุกรรมการและเลขานุการ จากหัวหน้ากลุ่มที่รับผิดชอบงานด้านสวัสดิการข้าราชการครู เป็นผู้อำนวยการกลุ่มที่รับผิดชอบงานเงินทุนหมุนเวียนฯ จำนวน 1 ราย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
– แก้ไขหน้าที่ของอนุกรรมการข้อ 14 (4) และข้อ 17 (4) ให้มีหน้าที่เพิ่มเติมจากคำว่า “พิจารณาอนุมัติคำขอกู้ยืมของข้าราชการครูในหน่วยงานทางการศึกษาที่อยู่ในสังกัด” เป็นคำว่า “วิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ก่อนพิจารณาอนุมัติคำขอกู้ยืมของข้าราชการครูในหน่วยงานทางการศึกษาที่อยู่ในสังกัด”
● รับทราบผลการจัดสรรเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556
สำนักงาน ก.ค.ศ.โดยคณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู ได้อนุมัติจัดสรรเงินจำนวน 437,200,000 บาท ตามสัดส่วนข้าราชการครูผู้สอนของแต่ละส่วนราชการและความต้องการกู้ยืม จำนวน 2,186 ราย ในวงเงินไม่เกินรายละ 200,000 บาท ได้แก่
– สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 1,523 ราย จำนวน 304,600,000 บาท
– สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 555 ราย จำนวน 111,000,000 บาท
– สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 78 ราย จำนวน 15,600,000 บาท
– สังกัดสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน 1 ราย จำนวน 200,000 บาท
– สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 16 ราย จำนวน 3,200,000 บาท
– สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 13 ราย จำนวน 2,600,000 บาท
รมว.ศธ.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุม ว่าการที่ตั้งผู้แทน ธ.ก.ส.เป็นอนุกรรมการ ก็เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้มีผู้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อเข้ามาร่วมพิจารณาตรงนี้ด้วย ซึ่งผู้กู้ยืมจะต้องมีคุณสมบัติ เช่น เป็นข้าราชการครูสายผู้สอนที่สอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เป็นแบบอย่างที่ดี และที่สำคัญต้องเป็นหนี้ก่อนที่จะมาขอกู้ ส่วนจะเป็นหนี้เท่าไร ระดับใดถึงจะกู้ได้นั้น ต้องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดของคณะอนุกรรมการกองทุนหมุนเวียน เพราะเป็นคนในพื้นที่ก็จะรู้รายละเอียดว่าหนี้ไหนจำเป็น หนี้ไหนสำคัญที่จะสามารถแก้ไขได้ ทั้งนี้จากการสำรวจหนี้สินของข้าราชการครูในปี 2555 โดยเฉลี่ยครูมีหนี้สินประมาณ 1 ล้านบาทต่อราย ทั้งจากสถาบันการเงินต่างๆ และสหกรณ์ออมทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามครูก็ยังคงมีทรัพย์สินเช่นกัน
ส่วนความต่อเนื่องในการดำเนินงานของ ศธ. กรณีที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีว่า เมื่อตนมาทำหน้าที่ตรงนี้ก็ต้องเริ่มต้นในบางเรื่อง หรือบางเรื่องต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นรัฐบาลชุดเดียวกันไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีท่านใดมาทำทำหน้าที่ การขับเคลื่อนนโยบายยังคงเหมือนเดิม สำหรับกรณีการทุจริตต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานั้น เป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนทางกฎหมายและวินัยอยู่แล้ว จึงต้องดำเนินการต่อไปแม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐมนตรีก็ตาม รวมทั้งงบประมาณเรื่องการจัดซื้อรถตู้สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาในส่วนของ ศธ. เนื่องจากเป็นกระทรวงที่มีงบประมาณจำนวนมาก จึงตั้งคณะอนุกรรมาธิการให้พิเศษ 1 ชุด เพื่อดูแลงบประมาณต่างๆ
ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ